โรคกลาก เกลื้อน
◉กลาก เกลื้อน ปัญหากวนใจ ที่ไม่ควรมองข้าม
เกลื้อน เป็นโรคเชื้อราของผิวหนังชนิดหนึ่งที่เกิดจากเชื้อ Malassezia furfur ซึ่งเป็นเชื้อราที่พบได้ที่ผิวหนังตามธรรมชาติ ทำให้ผู้ป่วยมีผื่นขึ้นตามผิวหนัง โดยเฉพาะในผู้ที่มีเหงื่อออกมาก เช่น ผู้ที่ทำงานกลางแดด ทำงานแบกหาม ผู้คนที่ชอบเล่นกีฬา หรือผู้ที่ใส่เสื้อผ้าที่อับเหงื่อเป็นเวลานาน
ประเทศที่มีภูมิอากาศร้อนชื้นจะพบโรคเกลื้อนได้มากกว่าในประเทศที่มีภูมิอากาศเย็น ประเทศไทยจากสถิติผู้ป่วยพบว่ามีผู้ป่วยเป็นโรคนี้อยู่ในอันดับต้นๆ และพบได้บ่อย โดยเฉพาะในวัยหนุ่มสาว และมักพบโรคนี้ในช่วงฤดูร้อน
◉สาเหตุของเกลื้อน
เกลื้อน เกิดจากเชื้อราบนผิวหนังชนิดหนึ่ง เราจะพบเชื้อราพวกนี้อยู่บนร่างกายของเรา เช่น หนังศีรษะ ใบหน้า ต้นคอ หน้าอก และ บริเวณหลัง แต่สำหรับคนที่เป็นเกลื้อนนั้น ก็คือเป็นคนที่มีเหงื่อออกมากกว่าปกติ ไม่รักษาความสะอาดและหมักหมม โดยเชื้อราพวกนี้จะกินไขมันที่ผิวหนัง และขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น และเกิดเป็นโรคเกลื้อนตามมา
◉อาการของโรคเกลื้อน
1.มีดวงขึ้นเป็นสีขาว แดง หรือน้ำตาล โดยจะมีสีเข้มหรืออ่อนกว่าผิวหนังปกติ
2.อาจขึ้นเป็นดวงเดียวหรือหลายดวง
3.สามารถเกิดบนร่างกายทุกส่วน แต่มักพบบริเวณลำตัว คอ ต้นแขน และหลัง
4.อาจทำให้ผิวแห้ง ตกสะเก็ด หรือคัน
*การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการแต่ละบุคคล
◉วิธีการรักษาเกลื้อน
การดูแลรักษาควรทำ 2 ทาง คือ
1.ใช้ยาลดการเจริญเติบโตของเกลื้อน ได้แก่
-ยาน้ำทา เหมาะกับผื่นเกลื้อนที่เป็นมากๆ
-ยาฆ่าเชื้อราชนิดครีม
2.รักษาสุขอนามัยส่วนบุคคล เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ควรจะซักและนำออกผึ่งแดดให้แห้งก่อนนำมาใช้อีกครั้ง และไม่ควรใช้ร่วมกับผู้อื่น อาบน้ำ ชำระร่างกายให้สะอาดอยู่เสมอ
*การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการแต่ละบุคคล
◉กลาก หรือ ขี้กลาก
เป็นโรคติดเชื้อราที่ผิวหนัง ผม และเล็บ สามารถติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัส โรคกลากเป็นโรคผิวหนังที่พบได้บ่อยมากในคนทุกเพศทุกวัย ในบางครั้งอาจพบเป็นพร้อมกันหลายคนในบ้าน ในโรงเรียน หรือในวัด เชื้อราพวกนี้สามารถก่อให้เกิดรอยโรคตามผิวหนังได้แทบทุกส่วนของร่างกาย ส่วนตำแหน่งที่เกิดรอยโรคอาจแตกต่างกันไปในแต่ละเพศแต่ละวัย
◉สาเหตุของโรคกลาก
โรคกลากเกิดจากเชื้อราซึ่งมีอยู่หลายชนิด เชื้อราเหล่านี้ชอบเจริญเติบโตอยู่ในบริเวณผิวหนังส่วนที่มีเคราตินเป็นโปรตีนชนิดหนึ่งที่อยู่ในผิวหนังชั้นนอก เล็บ และเส้นผม) ซึ่งได้แก่ ผิวหนังชั้นนอกสุด เล็บ และเส้นผม แล้วก่อให้เกิดโรคขึ้นมา
โรคนี้สามารถติดต่อได้ง่ายจากการสัมผัสกับผู้ป่วยที่เป็นโรคกลากโดยตรง หรือจากการใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ถุงเท้า รองเท้า หมวก หวี แปรงผม มีดโกนผม เป็นต้น หรือติดมาจากตามร้านตัดผม ร้านเสริมสวย หรือสัมผัสกับเชื้อราที่อยู่ในดินในทราย
นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงบางอย่างที่อาจทำให้มีโอกาสติดเชื้อได้มากขึ้น เช่น ผิวหนังที่เปียกชื้น, มีแผลที่ผิวหนัง, การใช้ห้องน้ำ อ่างอาบน้ำ หรือสระว่ายน้ำสาธารณะ
◉อาการของโรคกลาก
1.โรคกลากที่ศีรษะ หรือ เชื้อราที่ศีรษะ ลักษณะเป็นวง ๆ สีเทา ๆ หนังศีรษะมักแห้งเป็นขุยขาว ๆ คล้ายรังแค
2.โรคกลากที่เท้า พบได้ในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง เพราะใส่ถุงเท้าและรองที่ทำให้อับชื้น นอกจากนี้ยังพบได้ในคนที่เท้าเปียกน้ำบ่อย ๆ เช่น ย่ำน้ำ รวมถึงคนที่มีนิ้วเท้าบีบชิดกันตามธรรมชาติ ทำให้ง่ามนิ้วเท้าอับชื้นได้ง่าย
3.โรคกลากที่มือ ลักษณะของรอยโรคจะเหมือนโรคกลากที่เท้า และมักจะเป็นร่วมกับกลากที่เท้า แต่ที่มือมักจะเป็นแค่มือข้างเดียว
4.โรคกลากที่ใบหน้า พบได้ค่อนข้างน้อย มีรอยโรคคล้ายกับโรคกลากที่ลำตัว การเรียกโรคกลากที่ใบหน้าจะไม่รวมกลากที่ขึ้นบริเวณเครา หนวด และลำคอ ซึ่งจะมีชื่อเรียกและอาการที่ต่างกันไป
*การรักษาขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการแต่ละบุคคล
◉ผลข้างเคียงของโรคกลาก
1.โรคนี้ถ้าไม่ได้รับการรักษามักจะเป็นเรื้อรังและลุกลามจนดูน่ารังเกียจ
2.ผู้ป่วยโรคกลากที่ได้รับการรักษา รอยโรคบนผิวหนังต่าง ๆ จะหายไปโดยไม่เกิดแผลเป็น ผมที่ร่วงก็จะงอกกลับมาใหม่เหมือนปกติ แต่ผู้ป่วยที่เป็นโรคกลากที่ศีรษะแบบชันนะตุ หากปล่อยทิ้งไว้และไม่ได้รับการรักษาอาจทำให้ผมร่วงเป็นหย่อมอย่างถาวรได้ หรือถ้ากลากขึ้นที่เล็บ ก็อาจทำให้เล็บผุกร่อนพร้อมกันเกือบทุกเล็บได้
3.เชื้อราอาจลุกลามลงลึกไปจากชั้นเคราตินของผิวหนัง และทำให้เกิดเป็นตุ่มเนื้ออักเสบ
◉วิธีรักษาโรคกลาก
1.แพทย์จะให้ทาด้วยขี้ผึ้งรักษากลากเกลื้อนหรือขี้ผึ้งวิตฟิลด์ หรือทาด้วยครีมรักษาโรคเชื้อราโดยให้ทาบริเวณที่เป็นโรค วันละ 2-3 ครั้ง แต่ถ้าจำเป็นต้องถูกน้ำบ่อย หลังทำความสะอาดและเช็ดเท้าให้แห้งแล้ว ควรทายาซ้ำทุกครั้ง
2.ส่วนในรายที่เป็น ๆ หาย ๆ เป็นโรคกลากที่แผ่เป็นบริเวณกว้างหรือเรื้อรัง การทายาอาจไม่ทั่วถึงทำให้หายได้ช้า อาจต้องรักษาด้วยยาฆ่าเชื้อราชนิดรับประทานแทน
◉วิธีป้องกันโรคกลาก
ไม่คลุกคลีหรือใช้สิ่งของร่วมกับผู้ป่วย เช่น เสื้อผ้า ผ้าเช็ดตัว ถุงเท้า รองเท้า หมวก หวี แปรงผม มีดโกนผม เป็นต้น
รักษาความสะอาดด้วยการอาบน้ำฟอกสบู่ทุกวันอย่างน้อยวันละ 2 ครั้ง โดยเฉพาะบริเวณข้อพับและซอกต่าง ๆ ของร่างกาย เช่น ขาหนีบ ซอกนิ้ว
*ลักษณะอาการแตกต่างกันออกไป ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของอาการ บางคนเป็นไม่เยอะก็รักษาหายใช้เวลาไม่นาน บางคนอาการรุนแรงอาจจะใช้เวลานานในการรักษา
สอบถามและปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านผิวหนัง ประสบการณ์กว่า 22 ปี
ได้ทุกวันตั้งแต่เวลา
จันทร์ ถึง ศุกร์ 12.00 น. - 20.00 น.
เสาร์ ถึง อาทิตย์ 12.00 น. - 17.00 น.
#โทร : 088-521-8585
#Line : 1999MSC
#คลินิกผิวหนังมหานคร